แนวคิดเกี่ยวกับการเผยแพร่สารสนเทศ

           
    
  การเผยแพร่สารสนเทศ (Information dissemination)เป็นช่องทางสำคัญในการสื่อเพื่อเผยแพร่สารสนเทศจากแหล่งหนึ่งไปยังอีกแหล่งหนึ่ง เช่น จากผู้เขียนไปยังผู้อ่าน จากสถาบันบริการสารสนเทศไปยังผู้ใช้ เป็นต้น สารสนเทศที่เผยแพร่อาจอยู่ในรูปของข้อความ ตัวเลข เสียง ภาพ มัลติมิเดีย และอาจบันทึกไว้บนกระดาษ สื่อโสตทัศน์ สื่อแม่เหล็ก หรือสื่อออปติก
            การเผยแพร่สารสนเทศโดยทั่วไปมีการเผยแพร่อย่างไม่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ การเผยแพร่สารสนเทศอย่างไม่เป็นทางการอาจมีลักษณะของการพูดคุยในระหว่างการประชุมสัมมนา การติดต่อทางโทรศัพท์ การีติดต่อทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ การร่วมในกลุ่มสนทนาอิเล็กทรอนิกส์ (listserv)ในหัวข้อต่างๆ เป็นต้น ส่วนการเผยแพร่สารสนเทศอย่างเป็นทางการนั้นมีการบันทึกสารสนเทศไว้เป็นหลักฐานในรูปลักษณ์ต่างๆ เช่น เอกสารการบรรยายทางวิชาการ หนังสือ ตำรา รายงานการประชุมทางประชุมวิชาการ เอกสารทางวิชาการ วารสาร เป็นต้น ซึ่งนิยมเรียกสิ่งพิมพ์เหล่านี้อย่างกว้างๆว่า สิ่งพิมพ์วิชาการ โดยถือเป็นสื่อที่สำคัญยิ่งในการเผยแพร่ความรู้และสารสนเทศใหม่และเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ยิ่งกว่านั้นสิ่งพิมพ์ทางวิชาการที่มีคุณภาพจะมีกระบวนการพิจารณาคุณภาพโดยผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นผู้ร่วมวิชาชีพหรือนักวิชาการแขนงเดียวกัน (peer-review process)สถาบันบริการสารสนเทศประเภทต่างๆล้วนมีภารกิจสำคัญในการจัดบริการเผยแพร่นั้นมุ่งเน้นสารสนเทศที่ได้รับการบันทึกไว้เป็นหลักฐานสำคัญ
            การเผยแพร่สารสนเทศเป็นกิจกรรมสำคัญของสถาบันบริการสารสนเทศ เกี่ยวข้องกับงานประชาสัมพันธ์กิจกรรมและภารกิจของสถาบัน และการเผยแพร่สารสนเทศในรูปแบบที่สะดวกแก่ผู้ใช้ให้มากที่สุด การเผยแพร่สารสนเทศที่สำคัญ คือ เป็นการจัดส่งสารสนเทศไปยังผู้ใช้ โดยอาจเป็นการจัดส่งไปยังผู้ใช้ที่สถาบันคาดว่าจะใช้ประโยชน์จากสารสนเทศนั้น หรือจัดส่งไปยังผู้ใช้ตามที่ร้องขอ ทั้งนี้สารสนเทศที่จัดส่งอาจอยู่ในรูปเอกสาร บทความ จดหมายข่าว เอกสารเวียน และทั้งที่เป็นกระดาษและ/หรืออิเล็กทรอนิกส์
            การเผยแพร่สารสนเทศนั้นในระยะต้นส่วนใหญ่เป็นการเผยแพร่ทางเดียว กล่าวคือ การที่ผู้ให้บริการสารสนเทศจัดส่งสารสนเทศให้แก่ผู้ใช้ ไม่ว่าผู้ใช้จะร้องขอหรือไม่ก็ตาม และอาจมีการสอนหรือแนะนำให้ผู้ใช้ได้รู้จักวิธีการแสวงหาสารสนเทศเพื่อประโยชน์ในการแสวงหาสารสนเทศด้วยตนเอง เมื่อได้ให้บริการแล้ว ถือว่าได้ดำเนินการครบกระบวนการเผยแพร่สารสนเทศ ในระยะหลัง การเผยแพรสารสนเทศด้วยตนเอง เมื่อได้ให้บริการแล้ว ถือว่าได้ดำเนินการครบกระบวนการเผยแพร่สารสนเทศ ในระยะหลัง การเผยแพร่สารสนเทศมีลักษณะปฏิสัมพันธ์โดยทั้งให้ผู้บริการและผู้ใช้มีการสื่อสารระหว่างกัน และให้ผลป้อนกลับเพื่อใช้ปรับปรุงกิจกรรมการเผยแพร่สารสนเทศให้เหมาะสมและตรงกับความต้องการของผู้ใช้สอดคล้องกับสภาพการเผยแพร่สารสนเทศในสาขาวิทยาการหรือแต่ละศาสตร์ที่เกี่ยวข้องหรือตามนโยบายการให้บริการของสถาบันบริการสารสนเทศแห่งนั้นๆ
            สถาบันบริการสารสนเทศมักจัดเผยแพร่สารสนเทศใน  ลักษณะ คือ การเผยแพร่สารสนเทศเชิงรับ (passive)และเชิงรุก (proactive)การเผยแพร่สารสนเทศเชิงรับ นั้นมุ่งเน้นการจัดบริการการเผยแพร่ดั้งเดิม คือ การเผยแพร่สารสนเทศให้แก้ผู้ใช้ตามที่ผู้ใช้ร้องขอ โดยอยู่ในขอบเขตการจัดบริการของสถาบันบริการสารสนเทศ เช่น สถาบันบริการสารสนเทศแห่งหนึ่งจัดบริการแปลเอกสารภาษาต่างประเทศ ผู้ใช้ที่สนใจจะต้องขอใช้บริการดังกล่าว โดยแจ้งต่อผู้ใช้บริการ โดยทางโทรศัพท์ หรือไปแจ้งความจำนง ณ สถาบันบริการสารสนเทศแห่งนั้นด้วยตนเอง เพื่อขอทราบเงื่อนไขหรือลักษณะการให้บริการแปล หากผู้ใช้รายนี้ไม่ได้ขอใช้บริการดังกล่าว อาจเป็นเพราะไม่ทราบว่าสถาบันบริการสารสนเทศแห่งดังกล่าวจัดบริการแปล หรืออาจเคยใช้บริการแล้วแต่รู้สึกว่าการแปลมีข้อบกพร่อง หรือให้บริการช้าเกินไป ไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม สถาบันบริการสารสนเทศย่อมพลาดโอกาสในการให้บริการเผยแพร่สารสนเทศแก่ผู้ใช้รายนี้
            ในทางกลับกัน จากข้อจำกัดของบริการเผยแพร่สารสนเทศเชิงรับ และจากสภาพปัจจุบันที่มีการเผยแพร่สารสนเทศและบริการต่างๆ อย่างกว้างขวางผ่านอินเทอร์เน็ต ทั้งที่เป็นบริการที่คิดและไม่คิดมูลค่า สถาบันบริการสารสนเทศจำนวนมากจึงหันมาปรับปรุงบริการการเผยแพร่สารสนเทศให้อยู่ในเชิงรุก คือ มีการศึกษาและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผู้ใช้ เช่น ลักษณะการใช้สารสนเทศ ความสนใจเป็นต้น เพื่อใช้ในการคาดการณ์ความต้องการของผู้ใช้และจัดบริการเผยแพร่สารสนเทศเชิงรับที่ผู้ใช้เป็นผู้ริเริ่มขอใช้บริการ เมื่อได้รับคำร้องแล้ว จึงจัดบริการเผยแพร่สารสนเทศให้แก่ผู้รับตามกรอบหรือประเภทของบริการที่สถาบันบริการสารสนเทศกำหนดไว้
บทบาทของเทคโนโลยีสารสนเทศในการเผยแพร่สารสนเทศ
            ปัจจุบันการเผยแพร่สารสนเทศทำได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ยืดหยุ่นและประหยัด เนื่องจากเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่เปลี่ยนแปลงกระบวนการเผยแพร่สารสนเทศทั้งในระหว่างบุคคล ไปสู่กลุ่มผู้ใช้ หรือแก่สาธารณะโดยอินเทอร์เน็ตได้เข้ามามีบทบาทในการสื่อสารทั้งในระดับบุคคล กลุ่มบุคคล ภายในหน่วยงาน ระหว่างหน่วยงานโดยไม่จำกัดเวลาและสถานที่
            บริการที่สำคัญบนอินเทอร์เน็ตที่นำมาใช้ในการเผยแพร่สารสนเทศอย่างแพร่หลายนั้น คือ ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นการสื่อสารระหว่างบุคคล ทำให้สามารถจัดส่งสารสนเทศในรูปอิเล็กทรอนิกส์ไปถึงผู้ใช้แต่ละคนได้อย่างสะดวก กลุ่มสนทนาทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นการสนทนาร่วมกันในกลุ่มสมาชิกในหัวข้อใดหัวข้อหนึ่งกระดานสนทนา (web board)เป็นกระดานสนทนาในหัวข้อใดหัวข้อหนึ่ง แต่เปิดกว้างให้กับสารธารณะชน และเวิลด์ไวด์เว็บ (World Wide Web)หรือ (web)ซึ่งเป็นการบริการเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสาร หรือสารสนเทศทางระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในรูปแบบที่เรียกว่า ไฮเปอร์เท็กซท์ (hypertext)และจัดเป็นบริการสำคัญที่ใช้กันอย่างกว้างขวางที่สุด
            ดังนั้น หากพิจารณาบทบาทของเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีต่อการเผยแพร่สารสนเทศแล้ว อาจจำแนกบทบาทดังกล่าวออกเป็น
 ด้าน คือ การเป็นช่องทางในการเผยแพร่สารสนเทศ และการขยายขอบเขตของทรัพยากรสารสนเทศ จากเดิมที่อยู่ในรูปกระดาษ สื่อโสตทัศน์ประเภทต่างๆ ไปอยู่ในรูปอิเล็กทรอนิกส์หรือดิจิทัล
            เครือข่ายคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ตหรือเวิลด์ไวด์เว็บเข้ามาเป็นช่องทางสำคัญในการเผยแพร่สารสนเทศอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นการเผยแพร่สารสนเทศทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ เช่น มีการเปิดบริการให้ผู้ใช้ค้นแคตาล็อกของห้องสมุดผ่านเวิลด์ไวด์เว็บ ทำให้บุคคลทั่วไปสามารถค้นหาทรัพยากรสาสรสนเทศในสถาบันบริการสารสนเทศ โดยไม่ต้องเดินทางมาที่สถาบัน และเป็นบริการที่เผยแพร่ไปยังระดับภูมิภาคและสากลได้ตลอดเวลา หรือการเผยแพร่สารสนเทศทันสมัยในรูปจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ผ่านอินเทอร์เน็ตไปยังสมาชิกหรือผู้สนใจทั้งภายในและภายนอกหน่วยงาน อาจกล่าวได้ว่า เครือข่ายคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ตมีบทบาทสำคัญต่อการเผยแพร่สารสนเทศจนอาจจัดเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของสถาบันบริการสารสนเทศในยุคปัจจุบัน
            ยิ่งกว่านั้น ยังเกิดการผลิตและการตีพิมพ์สารสนเทศในรูปลักษณ์ต่างๆ ด้วยคอมพิวเตอร์ เกิดสิ่งพิมพ์ในรูปของสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือสื่อดิจิทัล หรือที่เรียกกระบวนการดังกล่าวว่าการพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ โดยสิ่งพิมพ์เหล่านี้อาจเผยแพร่ทั้งในรูปของกระดาษและ/หรืออิเล็กทรอนิกส์ หรืออาจอยู่ในรูปดิจิทัลหรืออิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น สิ่งพิมพ์หรือเอกสารเหล่านี้ทวีจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีคุณภาพแตกต่างกันไป และมีทั้งเผยแพร่แบบให้เปล่าและคิดมูลค่าบริการเผยแพร่สารสนเทศจึงได้รับผลกระทบโดยตรงจากการพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ เพราะสิ่งพิมพ์จำนวนมาก เช่นวารสาร เอกสาร อ้างอิงนั้นเผยแพร่ในรูปดิจิทัล จึงจำเป็นต้องปรับปรุงลักษณะการให้บริการ โดยมีการรวบรวมสารสนเทศจากแหล่งสารสนเทศทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มปริมาณ และต้องมีวิธีการในการให้บริการที่หลากหลายด้วย ตัวอย่างเช่น เกิดบริการหน้าสารบัญวารสารและบริการสารสนเทศทันสมัยที่จัดทำเป็นเอกสารหรือวารสารอิเล็กทรอนิกส์และเผยแพร่ผ่านอินเทอร์เน็ต บริการเหล่านี้มีทั้งที่จัดทำบุคคล องค์การ สมาคมวิชาชีพ
การเผยแพร่สารสนเทศในวงวิชาการที่สำคัญ
            บริการเผยแพร่สารสนเทศในวงวิชาการจัดเป็นบริการสำคัญที่สถาบันบริการสารสนเทศต่างๆจัดขึ้น เพื่อช่วยเผยแพร่สารสนเทศจากแหล่งต่างๆไปยังผู้ใช้ที่มีความต้องการสารสนเทศ เช่น นักเรียนนักศึกษาต้องทำรายงาน นักวิจัย นักวิชาการและคณาจารย์ต้องการติดตามสารสนเทศใหม่ๆในหัวข้อเฉพาะตามความสนใจรูปแบบสิ่งพิมพ์ซึ่งเป็นผลจากการเผยแพร่สารสนเทศในวงวิชาการ ทั้งนี่อาจจำแนกประเภทของการเผยแพร่สารสนเทศในวงวิชาการตามเวลาในการตีพิมพ์และเผยแพร่ และตามแหล่งที่มา
ประเภทของการเผยแพร่สารสนเทศในวงวิชาการจำแนกตามเวลาในการตีพิมพ์และเผยแพร่
            การตีพิมพ์และเผยแพร่ (publishing)เป็นกระบวนการสำคัญในการเผยแพร่สารสนเทศและความรู้ศาสตร์ต่างๆไปยังสถานะ โดยทั่วไปถือว่าสิ่งพิมพ์ที่มีการตีพิมพ์และเผยแพร่จะมีคุณค่าต่อความก้าวหน้าของศาสตร์นั้นๆ อันอำนวยประโยชน์ต่อการขยาย สืบทอดและสั่งสมองค์ความรู้อย่างเป็นระบบระเบียบ โดยมีสำนักพิมพ์เป็นผู้ดำเนินการในการตีพิมพ์และเผยแพร่สิ่งพิมพ์ทางวิชาการผ่านกลไกการค้าหนังสือและสิ่งพิมพ์ ในรูปของธุรกิจจัดจำหน่ายหนังสือและการบอกรับวารสารทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาคและสากล นอกจากนี้สำนักพิมพ์ทางวิชาการที่มีชื่อเสียงจึงเป็นเกณฑ์สำคัญประการหนึ่งในการประเมินค่าของสิ่งพิมพ์ทางวิชาการรายการนั้นๆ
            ดังนั้น จึงสามารถจำแนกประเภทของการเผยแพร่สารสนเทศในวงวิชาการตามเวลาในการตีพิมพ์และเผยแพร่ออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ เอกสารก่อนการตีพิมพ์และเผยแพร่ และเอกสารหลังการตีพิมพ์และเผยแพร่
            เอกสารก่อนการตีพิมพ์และการเผยแพร่ (pre-print publication)เนื่องจากกระบวนการตีพิมพ์และเผยแพร่กินเวลาไม่น้อย นับแต่การส่งร่างต้นฉบับให้สำนักพิมพ์พิจารณาคัดเลือก การบรรณาธิการและการจัดเตรียมต้นฉบับ นอกจากนี้ยังมีร่างต้นฉบับที่สำนักพิมพ์ไม่ผ่านการคัดเลือกให้ตีพิมพ์และเผยแพร่อีกด้วย กอปรกับอินเทอร์เน็ตและการพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญที่เปิดโอกาสให้นักวิชาการจำนวนไม่น้อยหันมาจัดพิมพ์และเผยแพร่ร่างต้นฉบับของตนอย่างสะดวก รวดเร็ว ประหยัดและโดยไม่จำเป็นต้องผ่านสำนักพิมพ์ นักวิชาการโดยเฉพาะคณาจารย์ในสถานศึกษาและนักวิจัยในสถาบันวิจัยต่างๆ จึงเผยแพร่ผลงานทางวิชาการของตนเองได้ก่อนการตีพิมพ์เผยแพร่ โดยผ่านทางเวิลด์ไวด์เว็บของหน่วยงานที่สังกัด เวิลด์ไวด์เว็บส่วนตัว หรือเวิลด์ไวด์เว็บสมาคมวิชาการหรือวิชาชีพ มหาวิทยาลัยขนาดใหญ่หลายแห่งในซีกโลกตะวันตกให้การสนับสนุนคณาจารย์และนักวิจัยของตนด้วยการจัดให้มีคอมพิวเตอร์บริการสำหรับเอกสารก่อนการพิมพ์และการเผยแพร่ในสาขาวิชาต่างๆ เพื่อเอื้อต่อการเผยแพร่สารสารสนเทศทางวิชาการไปยังสาธารณะได้อย่างรวดเร็ว คล่องตัวและประหยัดกว่าการให้สำนักพิมพ์ดำเนินการซึ่งกินเวลานานกว่าและอาจทำให้สิ่งพิมพ์ทางวิชาการราคาสูงกว่ามาก อันส่งผลต่อการเข้าถึงสารสนเทศด้วย
            เอกสารหลังการตีพิมพ์และเผยแพร่ (post-print publication)หมายถึงเอกสารที่ได้ตีพิมพ์และเผยแพร่แล้ว อาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มคือ
1.            เอกสารที่ได้รับความคุ้มครองทางลิขสิทธิ์
2.            เอกสารที่ไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์
ประเภทของการเผยแพร่สารสนเทศในวงวิชาการจำแนกตามแหล่งที่มา
            สารสนเทศที่มีการจัดเก็บและเผยแพร่ในรูปแบบใดก็ตาม สามารถแบ่งการเผยแพร่สารสนเทศในวงวิชาการตามแหล่งที่มาออกเป็น 3 ประเภท คือ แหล่งปฐมภูมิ แหล่งทุติยภูมิ และแหล่งตติยภูมิ
            แหล่งปฐมภูมิ (primary source)เป็นสารสนเทศและข้อมูลที่ได้มาจากต้นแหล่งโดยตรง เช่น การสำรวจตลาดที่รวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์หรือตอบแบบสอบถามจากกลุ่มผู้สูงอายุในพื้นที่ เอกสารรายงานต้นฉบับเหล่านี้มักเป็นรายงานข้อมูลและสารสนเทศใหม่ ซึ่งเป็นผลการศึกษา ค้นคว้า วิจัย การค้นพบทฤษฎีใหม่ การวิเคราะห์ วิพากษ์ทฤษฎีต่างๆ แหล่งปฐมภูมิมีประโยชน์และการเผยแพร่หรือให้ความรู้หรือข้อมูลใหม่ไปยังผู้ใช้หรือสู่สาธารณชนเพื่อนำความรู้หรือสารสนเทศใหม่เหล่านั้นอย่างเปิดเผย ข้อมูลและสารสนเทศที่ได้จากแหล่งปฐมภูมินี้ถือว่ามีความน่าเชื่อถือและมีน้ำหนักในการอ้างอิงทางวิชาการมากที่สุด เพราะถือเป็นต้นแหล่งของสารสนเทศโดยตรงซึ่งต่างจากข้อมูลที่ได้จากแหล่งทุติยภูมิและตติยภูมิซึ่งเป็นการรายงานหรืออ้างอิงมาอีกทอดหนึ่ง จึงอาจทำให้ข้อมูลคลาดเคลื่อนหรือผิดพลาดได้ โดยทั่วไป ข้อมูลและสารสนเทศเหล่านี้มักจะอยู่ในรูปสิ่งตีพิมพ์ในรูปแบบต่างๆโดยมีการแพร่ออกไปอย่างกว้างขวาง และสถาบันบริการสารสนเทศมักจัดเก็บไว้เพื่อให้บริการ แหล่งปฐมภูมภูมิได้แก่
1.            วารสารวิจัยและวิชาการ
2.            รายงานการวิจัย
3.            รายงานการประชุม สัมมนาวิชาการ
แหล่งทุติยภูมิ (secondary source)รวบรวมข้อมูลสารสนเทศจากแหล่งที่ได้มีการรวบรวมมาแล้วหรือแหล่งปฐมภูมิ โดยอาจนำข้อมูลประเภทเดียวกันมารวมไว้ด้วยกัน จัดหมู่ให้เป็นระเบียบ ย่อเรื่องให้เข้าใจง่ายหรือจัดทำดรรชนีบทความวารสาร (index to journal articles)เพื่อเป็นเครื่องมือในการช่วยค้นคว้า โดยอาจมีการจัดทำหรือรวบรวมเรื่องย่อ (summary)หรือสาระสังเขป (abstract)ประกอบให้สามารถเลือกสรรบทความ หรือเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวก ง่ายดายและรวดเร็วขึ้น แหล่งทุติยภูมิที่สำคัญได้แก่
 1.            วารสารที่มีการสรุปย่อและตีความพัฒนาการหรือทฤษฎีใหม่ๆให้เข้าใจง่ายขึ้น
2.            ดรรชนีและสาระสังเขป
3.            สื่ออ้างอิง
4.            หนังสือตำรา
5.            รายงานสถานภาพวิทยาการปัจจุบัน
6.            จดหมายข่าวหรือข่าวสาร
แหล่งตติยภูมิ (tertiary source)การรวบรวมข้อมูลสารสนเทศที่ช่วยค้นหาแหล่งข้อมูลปฐมภูมิและทุติยภูมิ บางครั้งอาจพบว่าแหล่งตติยภูมินั้นถูกจัดรวมไว้กับแหล่งทุติยภูมิ เพราะสิ่งพิมพ์ประเภทนี้มีจำนวนน้อยกว่าแหล่งสารสนเทศตติยภูมินี้ไม่มีสารสนเทศเกี่ยวกับความรู้เฉพาะสาขาวิชาต่างๆแต่จะช่วยในการค้นคว้าข้อมูลเพื่อใช้ในการหาข้อมูลเพื่อใช้ในการหาข้อมูลสารสนเทศเฉพาะสาขาวิชาอีกทีหนึ่ง สิ่งพิมพ์ประเภทนี้ประกอบด้วย
2.3.1 นามานุกรม เป็นการรวบรวมรายชื่อหน่วยงาน ผู้ปฏิบัติงานพร้อมสถานที่ เช่น นามสงเคราะห์ส่วนราชการไทย รายนามผู้ใช้โทรศัพท์ เป็นต้น
2.3.2 บรรณานุกรม เป็นการรวบรวมรายชื่อสิ่งพิมพ์ในหัวข้อหรือด้านใดด้านหนึ่ง เช่น รายชื่อวารสารภาษาไทยในห้องสมุดสถาบันอุดมศึกษา เป็นต้น
2.3.3 บรรณนิทัศน์ เป็นการรวบรวมรายชื่อวรรณกรรมในด้านต่างๆพร้อมคำอธิบายเนื้อเรื่องย่อ ส่วนใหญ่เนื้อเรื่องจะมีขนาดสั้น
2.3.4 หนังสือแนะนำวรรณกรรมเฉพาะสาขาวิชา เป็นการรวบรวมรายชื่อวรรณกรรมในสาขาวิชาเพื่อประโยชน์ในการแนะแนววรรณกรรมสำคัญหรือพื้นฐานการจัดหาวรรณกรรมในการจัดให้บริการสารสนเทศ


ที่มา  : มหาวิทยาสุโขทัยธรรมาธิราช. (2549). การบริการและการเผยแพร่สารสนเทศ หน่วยที่ 1-7.  
พิมพ์ครั้งที่4. นนทบุรี : มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.